website logo

โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน : Junior Science Talent Project (JSTP) โดย สวทช.

รูปถ่ายรวม ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน
รูปถ่ายรวม ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน

โครงการ JSTP คืออะไร

โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน หรือ JSTP (Junior Science Talent Project) เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตั้งแต่ปี 2540 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนผู้มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมุ่งหวังที่จะค้นหาและสนับสนุนผู้ที่มีศักยภาพในการเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ค่ายวิทยาศาสตร์ การทำโครงงานวิทยาศาสตร์ และการมีนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงเพื่อเสริมสร้างทักษะและประสบการณ์ที่จำเป็นในการพัฒนาไปสู่อาชีพในด้านนี้ต่อไป ศึกษาเพิ่มเติม

วัตถุประสงค์ของโครงการ

  1. ปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนสนใจทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและเข้าใจถึงบทบาทของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติและมนุษยชาติตลอดจนมีความเข้าใจและใฝ่รักวิชาชีพนักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี และนักวิจัย
  2. เพิ่มจำนวนนักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยีและนักวิจัยที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและระดับนานาชาติ
  3. สร้างกลไกและระบบในการเสาะหา คัดเลือก และบ่มเพาะผู้มีความสามารถพิเศษ และผู้มีอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้มีศักยภาพสูงสุด
ประกาศรับสมัครโครงการ JSTP รุ่นที่ 26 ประจำปี พ.ศ. 2566
ประกาศรับสมัครโครงการ JSTP รุ่นที่ 26 ประจำปี พ.ศ. 2566

ระดับของโครงการ

  • ระดับผู้มีความสามารถพิเศษ (Gifted and Talented Children): คัดเลือกเด็กและเยาวชนระดับมัธยมศึกษาจำนวนปีละประมาณ 50 คน เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมประสบการณ์และพัฒนาศักยภาพ
  • ระดับผู้มีแววอัจฉริยภาพ (Genius): คัดเลือกจากกลุ่มแรกปีละประมาณ 7 คน เพื่อรับการสนับสนุนระยะยาวจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก
  • ทำไมถึงอยากเข้าโครงการ JSTP

    เพราะการเข้าร่วมโครงการ JSTP เป็นโอกาสสำคัญสำหรับผมในการพัฒนาทักษะทางเทคนิคและรับคำแนะนำจากผู้ใหญ่และผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิศวกรรมที่มีประสบการณ์ การเรียนรู้จากประสบการณ์ของพวกท่านจะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพของโปรเจคที่ผมทำอยู่ รวมถึงสร้างความมั่นใจในการทดลองและพัฒนาแนวคิดใหม่ๆ ผมเชื่อว่าการมีผู้ใหญ่ที่คอยสนับสนุนจะทำให้ประสบการณ์ในโครงการนี้มีคุณค่า และสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งสำหรับอนาคตของผม

    โครงงานของผม

    โครงงานของผมเองทำเกี่ยวกับการประกอบ แขนกลสำหรับติดตามดาวเทียมกิจการวิทยุสมัครเล่น ที่จะทำหน้าที่ติดตามดาวเทียม ที่โคจรเข้ามาในน่านฟ้าประเทศไทย รวมถึงการทดสอบประสิทธิภาพของแขนกลดังกล่าว ให้อยู่ในเกณฑ์ที่จะสามารถนำไปใช้งานได้จริงต่อไปในอนาคต

    คลิปแนะนำแขนกลเบื้องต้น

    ที่มาของโครงงาน

    ในปัจจุบัน เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการติดตามดาวเทียมสำหรับวิทยุสมัครเล่นยังคงเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมในประเทศไทยอย่างแพร่หลาย ซึ่งหนึ่งในปัญหาหลักคือราคาที่สูงของแขนกลที่ถูกออกแบบมาเพื่อการใช้งานเชิงพาณิชย์ ทำให้นักวิทยุสมัครเล่นที่ต้องการติดต่อกับดาวเทียมต้องถือสายอากาศทิศทางที่มีน้ำหนักมาก และต้องชี้สายอากาศไปยังดาวเทียมด้วยตนเอง ซึ่งทำให้การติดต่อกับดาวเทียมวงโคจรต่ำมีความยากลำบาก เนื่องจากดาวเทียมมีความเร็วสูงเมื่อเปรียบเทียบกับดาวเทียมในวงโคจรสูง ทำให้การติดตามดาวเทียมด้วยมือมีความแม่นยำต่ำ

    เพื่อแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น ผมมีความตั้งใจที่จะพัฒนาโครงงานที่เกี่ยวข้องกับการติดตามดาวเทียมในรูปแบบที่สามารถประกอบขึ้นได้เองที่บ้าน โดยใช้วัสดุและอุปกรณ์ที่มีต้นทุนต่ำ ลดการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ สามารถพกพาได้สะดวก และเพิ่มประสิทธิภาพให้มีประสิทธิภาพตรงตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ เพื่อให้นำไปใช้งานได้จริงต่อไปในอนาคต

    รูปรวม
    รูปภาพการ Setup แขนกล (1)
    รูปรวม
    รูปภาพการ Setup แขนกล (2)

    ความสำคัญของโครงงาน

    โครงงานนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในกิจการด้านอื่นๆได้อีก ที่ต้องการความแม่นยำในการติดตาม เช่น การติดตามเครื่องบิน ทั้งเครื่องบินพาณิชย์ เรือเดินสมุทร หรือ พัฒนาไปในระบบที่ใหญ่ขึ้นเช่นทางด้านความปลอดภัยของประเทศ เช่น ติดตามเครื่องบินรบ เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างปืนต่อสู้อากาศยาน, การติดต่อสื่อสารทางไกล ที่แม่นยำและรวดเร็ว, ข้อมูลทางด้านภูมิศาสตร์และสภาพอากาศที่นำมาปรับใช้กับการเพาะปลูกและการเกษตรกรรม รวมไปถึงการติดตามอากาศยานไร้คนขับสำหรับฉีดปุ๋ย ยาฆ่าแมลง หรืองานสำรวจพืชผลทางการเกษตร หรืองานอื่นๆที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ซึ่งสามารถประยุกต์แขนกล และระบบนี้ทดแทนแรงงานจากมนุษย์ได้เช่นกัน

    ตัวอย่างที่เด่นชัดคือระบบ Iron Dome ของอิสราเอล ซึ่งเป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศที่สามารถตรวจจับและตอบสนองต่อการโจมตีจากขีปนาวุธได้อย่างรวดเร็ว ระบบนี้ไม่เพียงแต่ช่วยปกป้องประชาชนจากภัยคุกคาม แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการติดตามและการควบคุมที่แม่นยำในยุคปัจจุบัน

    Israel's Iron Dome air defense system, Operations Guardian of the Walls, 2021
    ระบบป้องกันภัยทางอากาศ Iron Dome ของอิสราเอล, ปฏิบัติการ Guardian of the Walls, ปี 2021
    CC BY-SA 3.0, รูปภาพจากวิกิพีเดีย

    หลักการทำงานของแขนกล

    แผนผังการทำงานของแขนกล
    แผนผังการทำงานของแขนกล

    กระบวนการทำงานทั้งหมดของแขนกลจะเริ่มต้นที่โปรแกรมติดตามดาวเทียมและควบคุมแขนกลที่ทำงานผ่านคอมพิวเตอร์ โดยในโครงงานของผมเลือกใช้ Gpredict เพราะเป็นซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มี User Interface ที่สวยงาม รองรับการปรับเปลี่ยนตามความต้องการได้หลากหลาย และสามารถทำงานบนระบบปฏิบัติการ Linux ได้

    ตัวอย่างภาพหน้าจอของโปรแกรม Gpredict
    ตัวอย่างภาพหน้าจอของโปรแกรม Gpredict
    CC BY-NC 2.0, รูปภาพจากเว็บไซต์ Gpredict

    ตัวโปรแกรมจะทำการดาวน์โหลดชุดข้อมูล Two Line Element (TLE) จากอินเทอร์เน็ต เพื่อใช้ในการคำนวณตำแหน่งดาวเทียมในปัจจุบัน เมื่อดาวเทียมที่เราต้องการติดตามโคจรผ่านบริเวณสถานีที่เราป้อนค่าตำแหน่งเอาไว้ โปรแกรมก็จะทำการประกาศตำแหน่งของดาวเทียมบนท้องฟ้าในหน่วยดีกรี ไปยังระบบเน็ตเวอร์ค ตามที่เราได้ตั้งค่าเอาไว้ในหน้าต่าง Rotator Controller ของโปรแกรม ในที่นี้ผมได้ตั้งให้เป็นไอพีของ localhost พอร์ต 4533 เพื่อเชื่อมต่อพูดคุยกับโปรแกรม Hamlib ต่อไป

    หน้าต่าง Rotator Controller
    หน้าต่าง Rotator Controller

    เมื่อโปรแกรม Hamlib ได้รับตำแหน่งดาวเทียมจากโปรแกรม Gpredict แล้ว ตัวโปรแกรมก็จะทำการแปลงรูปแบบการส่งพิกัดใหม่ให้สามารถทำงานร่วมกับบอร์ดควบคุม และทำการส่งข้อมูลแบบ Serial ไปยังพอร์ต COM ที่บอร์ดควบคุมเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์อยู่

    เมื่อบอร์ดควบคุมรับตำแหน่งของดาวเทียมได้แล้วก็จะทำการขับ Stepper Motor ไปยังตำแหน่งดังกล่าวและรายงานโปรแกรม Gpredict ต่อไป ในโครงงานนี้ผมได้ดัดแปลงและเลือกใช้ Arduino Uno ร่วมกับ CNC Shield V3 และตัวขับ Stepper Motor A4988 เป็นบอร์ดควบคุมแขนกล สามารถดู Flow Chart ของ Firmware บอร์ดควบคุมแขนกลได้ที่นี่

    อุปกรณ์ประกอบบอร์ดควบคุมแขนกล
    อุปกรณ์ประกอบบอร์ดควบคุมแขนกล

    เมื่อสามารถติดตามดาวเทียมได้แล้ว ก็สามารถติดต่อและรับส่งข้อมูลกับดาวเทียมได้ผ่านสายอากาศ ในครั้งนี้ ผมติดต่อดาวเทียมกิจการวิทยุสมัครเล่น โดยใช้สายอากาศทิศทางยากิ VHF/UHF ที่สามารถส่งและรับได้ 2 ย่านความถี่ และใช้ SDR (Software Defined Radio) ในการประมวลผลข้อมูล ในคอมพิวเตอร์ต่อไป

    การประกอบแขนกล

    โมเดลแขนกลต้นแบบ ในโปรแกรม FreeCAD
    โมเดลแขนกลต้นแบบ ในโปรแกรม FreeCAD
    Stepper Motor ที่ใช้ในแขนกล
    Stepper Motor ที่ใช้ในแขนกล
    การประกอบแขนกล
    การประกอบแขนกล
    ทดสอบการหมุนของ Stepper Motor โดยใช้บอร์ด CNC Shield V3
    ทดสอบการหมุนของ Stepper Motor โดยใช้บอร์ด CNC Shield V3
    การประกอบแขนกล
    การประกอบแขนกล
    การประกอบแขนกล

    การทดสอบแขนกล

    สำหรับการทดสอบแขนกลที่ผมได้ประกอบขึ้นมาในโครงงานนี้ จะมีอยู่ 4 การทดสอบด้วยกัน ได้แก่:

  • การทดสอบการเคลื่อนที่จากตำแหน่งปัจจุบันไปยังตำแหน่งเริ่มต้นได้ถูกต้องแม่นยำ ได้ทำการสั่งให้แขนกลเคลื่อนที่จากตำแหน่งปัจจุบันไปยังตำแหน่งเริ่มต้น เปรียบเทียบกับค่าที่วัดได้ และหาค่าเฉลี่ยจากการทดลองทั้งหมด 50 รอบ
  • การทดสอบโดยเริ่มจากตำแหน่งสุ่มไปยังตำแหน่งที่ต้องการ โดยเริ่มจากตำแหน่งที่สุ่มเอาไว้ เปรียบเทียบกับค่าที่วัดได้ และหาค่าเฉลี่ยจากการทดลองทั้งหมด 20 รอบ
  • การทดสอบวัดแรงดึงที่แขนกลสามารถทำได้ โดยกำหนดให้ตำแหน่งวัด ห่างจากจุดหมุน ระยะ 1 เมตร จากนั้นจึงเพิ่มน้ำหนักขึ้นครั้งละ 0.5 กิโลกรัม และทำการบันทึกผล
  • การทดสอบนำไปใช้งานจริงและอ่านค่าสัญญาณที่ได้รับจากดาวเทียม โดยนำแขนกลไปติดตั้งใช้งานจริง และวัดระดับสัญญาณจากดาวเทียม แล้วบันทึกค่าที่ได้รับ
  • การทดสอบโดยเริ่มจากตำแหน่งสุ่มไปยังตำแหน่งที่ต้องการ

    สาธิตการควบคุมแกน Elevation ของแขนกล
    สาธิตการควบคุมแกน Azimuth ของแขนกล

    การทดสอบวัดแรงดึงที่แขนกลสามารถทำได้

    สาธิตการทดสอบวัดแรงดึงที่แขนกลสามารถทำได้

    ทดสอบเคลื่อนที่จากจุดใดๆไปยังตำแหน่งเริ่มต้น (Homing Test)

    สาธิตการทดสอบเคลื่อนที่จากจุดใดๆไปยังตำแหน่งเริ่มต้น

    การทดสอบนำไปใช้งานจริงและอ่านค่าสัญญาณที่ได้รับจากดาวเทียม

    ทดลองใช้งานแขนกลจริง

    นักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยง

    นักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงของผมคือ คุณอภิวัฒน์ จิรวัฒนผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอ็นบีสเปซ จำกัด (นักวิทยุสมัครเล่น สัญญานเรียกขาน HS4SCI)

    NBSpace คือบริษัทสตาร์ทอัพภายใต้การสนับสนุนจาก มจพ. ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการสร้างอะไหล่ชิ้นส่วนสำหรับประกอบดาวเทียมขนาดเล็กให้กับนานาชาติ ปัจจุบัน บริษัทได้พัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับประสิทธิภาพและความทนทานของชิ้นส่วน ทำให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมอวกาศระดับสากล

    รูปถ่ายร่วมกับนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยง
    รูปถ่ายร่วมกับนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยง
    ถือแขนกลใต้ตึก TGGS มจพ
    ถือแขนกลใต้ตึก TGGS (มจพ.)
    นักวิทยาศาสตร์โครงงานผมพาสำรวจออฟฟิสต่างๆภายในตึก TGGS
    คุณอภิวัฒน์ จิรวัฒนผล (นักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงโครงงานผม) พาสำรวจออฟฟิสต่างๆภายในตึก TGGS
    ขณะรับฟังข้อเสนอแนะโครงงาน
    ขณะรับฟังข้อเสนอแนะโครงงาน
    ขณะรับฟังข้อเสนอแนะโครงงาน
    ขณะรับฟังข้อเสนอแนะโครงงาน

    กิจกรรมนำเสนอความก้าวหน้า

    กิจกรรมนำเสนอความก้าวหน้าในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน (JSTP) เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักเรียนผู้ทำโครงการได้นำเสนอความก้าวหน้าในโครงงานของตนเองกับคณะกรรมการผู้มีความรู้ เพื่อรับฟังคำชี้แนะที่สามารถนำไปปรับใช้ในโครงงานต่อไปได้

    ในกิจกรรม เราสามารถแบ่งการนำเสนออกมาเป็น 2 ครั้งย่อยได้แก่: การนำเสนอความก้าวหน้า 50% และ การนำเสนอความก้าวหน้า 100% สำหรับโครงการ JSTP รุ่นที่ 26 ประจำปี 2566 การนำเสนอครั้งแรกจะอยู่ในช่วง 23 - 27 ตุลาคม 2566 และการนำเสนอครั้งสุดท้ายระหว่างวันที่ 12 - 16 พฤษภาคม 2567

    ระหว่างกิจกรรมนำเสนอความก้าวหน้า 50%
    ระหว่างกิจกรรมนำเสนอความก้าวหน้า 50%

    เนื้อหาของการนำเสนอครั้งแรก จะเป็นการรายงานความก้าวหน้าโครงงาน 4 เดือนที่ผ่านมาหลังจากที่เริ่มโครงการ และบอกแผนของโครงงานที่จะทำต่อไป เมื่อนำเสนอเสร็จก็จะได้คำแนะนำเกี่ยวกับทิศทางของโครงงานจากกรรมการ สำหรับการนำเสนอครั้งที่สองหรือครั้งสุดท้าย จะเป็นการนำเสนอโครงงาน ฉบับสมบูรณ์ ที่มีผลต่อการคำนวณคะแนนสำหรับแข่งขันได้รับทุน JSTP ระยะยาว (ระดับผู้มีแววอัจฉริยภาพ) ที่จะคัดเลือกเพียงแค่ 1 คนในแต่ละสาขาเท่านั้น

    ระหว่างกิจกรรมนำเสนอความก้าวหน้า 100%
    ระหว่างกิจกรรมนำเสนอความก้าวหน้า 100%

    กิจกรรมอื่นๆในโครงการ

    หลังจากที่ทุกคนนำเสนอผลงานของตนเองเสร็จแล้ว ก็จะมีกิจกรรมละลายพฤติกรรมที่จะช่วยให้รู้จักเพื่อน ๆ ในค่ายมากขึ้น ซึ่งกิจกรรมนี้จะผสมผสานความรู้ทางวิชาการด้วย เช่นกิจกรรมพัฒนาทักษะการสื่อสารและการทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยในคืนนั้นทุกคนจะพักค้างคืนที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรอีกหนึ่งคืน เพื่อเตรียมตัวสำหรับกิจกรรมทัศนศึกษาในวันถัดไป

    หลังการนำเสนอความก้าวหน้าโครงงาน 50%

    ได้ไปทัศนศึกษาที่ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน จังหวัดชลบุรี ทัศนศึกษาที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลและสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล พร้อมเข้าฟังบรรยายและร่วมกิจกรรมพัฒนาทักษะด้านการเงินและความสำเร็จจากทีม CSR ธนาคารไทยพาณิชย์

    นักเรียนทุกคนรับเกียรติบัตรพร้อมกันหลังจากที่จบค่าย JSTP
    กิจกรรมละลายพฤติกรรมหลังจากการนำเสนอ พร้อมฟังกำหนดการกิจกรรมทัศนศึกษาในวันถัดไป
    สรุปข้อเสนอแนะจากกรมการ ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์
    สรุปข้อเสนอแนะจากกรมการ ณ ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์
    ทัศนศึกษา ณ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา
    ทัศนศึกษา ณ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา
    ทัศนศึกษาที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลและสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล
    ทัศนศึกษาที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลและสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล กองทัพเรือ สัตหีบ จังหวัดชลบุรี
    ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน จังหวัดชลบุรี
    ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน จังหวัดชลบุรี
    ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน จังหวัดชลบุรี
    ศูนย์ฝึกอบรมธนาคารไทยพาณิชย์ หาดตะวันรอน จังหวัดชลบุรี

    หลังการนำเสนอความก้าวหน้าโครงงาน 100%

    กิจกรรมล่องแก่ง ณ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
    กิจกรรมล่องแก่ง ณ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
    กิจกรรมล่องแก่ง ณ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
    กิจกรรมล่องแก่ง ณ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
    กิจกรรมละลายพฤติกรรม ณ นาน่ารีสอร์ทแก่งกระจาน
    กิจกรรมละลายพฤติกรรม ณ นาน่ารีสอร์ทแก่งกระจาน
    กิจกรรมปล่อยปูคือสู่ท้องทะเล
    กิจกรรมปล่อยปูคือสู่ท้องทะเล
    ทัศนศึกษา ณ พระรามราชนิเวศน์(วังบ้านปืน)
    ทัศนศึกษา ณ พระรามราชนิเวศน์(วังบ้านปืน)
    ทัศนศึกษา ณ พระรามราชนิเวศน์(วังบ้านปืน)
    ทัศนศึกษา ณ พระรามราชนิเวศน์(วังบ้านปืน)

    สิ่งที่ได้รับจากโครงการ JSTP

    นักเรียนทุกคนรับเกียรติบัตรพร้อมกันหลังจากที่จบค่าย JSTP
    นักเรียนทุกคนรับเกียรติบัตรพร้อมกันหลังจากที่จบค่าย JSTP / JSTP-SCB

    การได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพเยาวชน หรือ JSTP นับเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่ามากสำหรับผม โครงการนี้ได้เปิดโอกาสให้เยาวชนที่สนใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้พัฒนาศักยภาพและทักษะที่สำคัญ เพื่อก้าวไปสู่การเป็นนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์ในอนาคต สำหรับผมแล้ว สิ่งที่ได้รับจากโครงการนี้มีมากมาย ไม่เพียงแค่ความรู้ทางวิชาการ แต่ยังรวมถึงการเรียนรู้ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นและการคิดเชิงวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง

    หนึ่งในประสบการณ์ที่สำคัญที่สุดจากโครงการ JSTP คือการเรียนรู้การทำวิจัยในเชิงลึก ผมได้เข้าใจถึงกระบวนการตั้งคำถามวิจัย การออกแบบการทดลอง และการวิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้น ความท้าทายเหล่านี้ช่วยฝึกฝนให้ผมมีความอดทน มีวิจารณญาณในการแก้ไขปัญหา และสามารถคิดอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ผมยังได้ฝึกทักษะในการทำงานเป็นทีม ได้เรียนรู้จากเพื่อนร่วมโครงการและที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นการเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้กับการเรียนรู้

    โครงการ JSTP ยังช่วยให้ผมได้พัฒนาทักษะการสื่อสาร ทั้งการนำเสนอผลงานและการอธิบายแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ให้คนอื่นเข้าใจ การทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและเพื่อนร่วมทีมจากหลากหลายสาขา ช่วยเพิ่มความสามารถในการทำงานร่วมกันและการฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับอนาคต

    สุดท้ายนี้ ผมอยากขอบคุณทุกคนที่มีส่วนในการมอบโอกาสอันมีค่านี้ให้กับผม ขอบคุณคณะผู้จัดโครงการ อาการย์ที่ปรึกษา และเพื่อน ๆ ร่วมโครงการทุกคนที่ได้แบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ และแรงบันดาลใจ การเข้าร่วมโครงการ JSTP ทำให้ผมเติบโตขึ้นทั้งในด้านวิชาการและการพัฒนาตนเอง และผมเชื่อว่าประสบการณ์นี้จะเป็นส่วนสำคัญในการก้าวสู่เส้นทางอาชีพที่ผมใฝ่ฝันต่อไป